ภารกิจกำจัดลูกน้ำยุงลายโดย อสม.เชิงรุก และภาคีเครือข่ายฯ

ภารกิจกำจัดลูกน้ำยุงลายโดย อสม.เชิงรุก และภาคีเครือข่ายสถานศึกษาสู่ความร่วมมือ
—————————————-
         นางไพเราะ กาญจนสิงห์ ผู้อำนวยการสถานศึกษา โรงเรียนเทศบาลเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี สังกัดเทศบาลนครแม่สอด ร่วมกับภาคีเครือข่าย อสม.แม่ปะ หมู่ 10 ร่วมให้ความรู้ความเข้าใจโรคไข้เลือดออกและการกำจัดแหล่งลูกน้ำยุงลาย ทั้งนี้การควบควบคุมโรค ได้จัดกิจกรรม”กลุ่มนักเรียนอาสาปราบยุงลาย”ในพื้นที่จัดกิจกรรมรณรงค์ในช่วงเดือนกรกฎาคม-กันยายน โดยจัดรณรงค์ให้กับคณะครู นักเรียน ประชาชนในเขตชุมชน แม่ปะ หมู่ 10 หลังจากนั้นร่วมกันเดินรณรงค์ในหมู่บ้านแม่ปะ

         นางไพเราะ กล่าวว่า กิจกรรมครั้งนี้เกิดจากภายใต้แนวคิด “End Dengue : Starts With Me” หยุดไข้เลือดออก เริ่มต้นที่ตัวเรา เพื่อสร้างความตระหนักและปลุกกระแสให้ประชาชนในพื้นที่ทุกคนตื่นตัว ตระหนักถึงความสำคัญของสถานการณ์โรคไข้เลือดออกที่เกิดขึ้น โดยการช่วยกันสำรวจและกำจัดแหล่งเพาะพันธุ์ยุงลายในบ้านของตนเองอย่างต่อเนื่อง โดยยึดหลักมาตรการ 3 เก็บ ป้องกัน 3 โรค ได้แก่ 1.เก็บบ้านให้สะอาด ไม่ให้มีมุมอับทึบ เป็นที่เกาะพักของยุงลาย 2. เก็บขยะ เศษภาชนะรอบบ้าน โดยทำต่อเนื่องสัปดาห์ละครั้ง เพื่อไม่ให้เป็นแหล่งเพาะพันธุ์ยุงลาย 3.เก็บน้ำ สำรวจภาชนะใส่น้ำ (น้ำดื่ม และน้ำใช้) ต้องปิดฝาให้มิดชิดป้องกันยุงลายวางไข่ หรือปล่อยปลากินลูกน้ำ หากมีภาชนะที่ไม่ใช้ควรเทน้ำออกและคว่ำ ดูแลอย่าให้มีน้ำขัง

         ทีมงาน อสม. แม่ปะ หมู่ 10 กล่าวว่าอาการของไข้เลือดออก คือ มีไข้ 39-40 องศาเซลเซียส ประมาณ 2-7 วัน ปวดเมื่อยตามตัว อาเจียน อ่อนเพลีย อาจพบจุดเลือดออกเล็กๆที่ผิวหนัง ทำ tourniquet test ให้ผลบวกได้ตั้งแต่ 2-3 วันแรกของโรค ร่วมกับมีจุดเลือดออกเล็กๆ กระจายตามแขน ขา ลำตัว รักแร้ โดยมากไม่มีอาการน้ำมูกไหลหรือไอ ในช่วงไข้ลดผู้ป่วยจะมีอาการกระสับกระส่าย มือเท้าเย็น รอบปากเขียว อาจมีอาการปวดท้องมาก ก่อนจะมีอาการช็อก ชีพจรเบาเร็ว ความดันต่ำ มีเลือดกำเดาไหล เลือดออกตามไรฟัน เลือดออกในกระเพาะ อาเจียนเป็นเลือด อุจจาระเป็นสีดำ หากพบว่าท่านหรือคนในครอบครัวมีอาการไข้สูงลอยเกิน 2 วัน ปวดเมื่อยตามตัว อาเจียน อ่อนเพลีย ไม่มีน้ำมูกหรือไอ ควรรีบไปพบแพทย์ทันที เพื่อวินิจฉัยโรคเพราะอาจเป็นอาการแรกเริ่มของไข้เลือดออก ซึ่งถือเป็นเรื่องที่สำคัญมากเนื่องจากมีอาการไข้ที่ใกล้เคียงกับหลายๆ โรค การรักษาโรคไข้เลือดออก

          เนื่องจากโรคนี้ยังไม่มียารักษา จึงต้องรักษาตามอาการแบบประคับประคองโดยการให้สารน้ำ ให้ยาลดไข้ ไม่ให้ผู้ป่วยมีอาการวิกฤติ หากมีอาการปวดท้อง ซึมลง กระสับกระส่าย มือเท้าเย็น ไข้ลด ให้รีบกลับไปพบแพทย์ซ้ำ หรือนำส่งโรงพยาบาลทันที เพื่อรับการรักษาอย่างทันท่วงทีและลดการเสียชีวิต ขอความร่วมมือคลินิก ร้านขายยา หลีกเลี่ยงการจ่ายยากลุ่มเอ็ดเสด เช่น แอสไพริน ไอบูโพรเฟน ในผู้ที่มีไข้สูง เพราะเสี่ยงทำให้เลือดออก อาจเสียชีวิตได้ ดังนั้นการดูแลเบื้องต้นควรให้ผู้ป่วยรับประทานยาลดไข้ “พาราเซตามอล” เท่านั้น และดื่มน้ำหรือน้ำเกลือแร่มากๆ
——————————————-
เศรษฐชาติ แหงมงาม ภาพ/ข่าว ประชาสัมพันธ์สถานศึกษา รายงาน

 

You may also like...