การพัฒนากิจกรรมการเรียนรู้ สู่ทักษะอาชีพกับความท้าทายการศึกษาฯ

การพัฒนากิจกรรมการเรียนรู้ สู่ทักษะอาชีพกับความท้าทายการศึกษาในศตวรรษที่ 21 ในการเตรียมนักเรียนให้พร้อมกับชีวิตทักษะด้านชีวิตและอาชีพ โดยความร่วมมือทั้งสองฝ่ายร่วมโครงการฯ

         วิทยาลัยชุมชนตาก  ร่วมกับโรงเรียนเทศบาลเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เทศบาลนครแม่สอด ส่งเสริมทักษะอาชีพให้กับนักเรียนที่มีความสนใจในกิจกรรมทำขนมไทยพื้นถิ่นของชาวอำเภอแม่สอดที่นับวันจะค่อยๆสูญหายไปตลอดจนขนมฮาละหว่า เส่งเผ่ ข้าวกั๊นจิ๊นเป็นต้นเพื่อรักษาไว้ซึ่งภูมิปัญญาไทย สำหรับการอาหารไทยมีความสัมพันธ์กับชีวิตในชุมชนแม่สอด เนื่องจากเป็นพหุวัฒนธรรม การทำอาหาร เป็นการอนุรักษ์ ส่งเสริมภูมอปัญญาชุมชนให้นักเรียนนำไปสร้างอาชีพ สร้างรายได้โดยให้นางณัฐชนา วงศ์ใบบุญตระกูล ครูกลุ่มสาระการเรียนรู้การงานอาชีพและเทคโนโลยีเป็นครูผู้จัดกิจกรรมดังกล่าวให้เกิดประโยชน์สูงสุด

         นางไพเราะ กาญจนสิงห์ ผู้อำนวยการสถานศึกษา  กล่าวว่าจากสาระวิชาก็มีความสำคัญ แต่ไม่เพียงพอสำหรับการเรียนรู้เพื่อมีชีวิตในโลกยุคศตวรรษที่ 21 ปัจจุบันการเรียนรู้สาระวิชา (content หรือ subject matter) ควรเป็นการเรียนจากการค้นคว้าเองของศิษย์ โดยครูช่วยแนะนำ และช่วยออกแบบกิจกรรมที่ช่วยให้นักเรียนแต่ละคนสามารถประเมินความก้าวหน้าของการเรียนรู้ของตนเองได้ทักษะด้านการเรียนรู้และนวัตกรรม จะเป็นตัวกำหนดความพร้อมของนักเรียนเข้าสู่โลกการทำงานที่มีความซับซ้อนมากขึ้นในปัจจุบัน ได้แก่ความริเริ่มสร้างสรรค์และนวัตกรรม การคิดอย่างมีวิจารณญาณและการแก้ปัญหา และการสื่อสารและการร่วมมือ จากกิจกรรมการเรียนรู้สู่อาชีพดังกล่าว ส่งผลสู่ทักษะด้านชีวิตและอาชีพ ในการดำรงชีวิตและทำงานในยุคปัจจุบันให้ประสบความสำเร็จ นักเรียนจะต้องพัฒนาทักษะชีวิตที่สำคัญดังต่อไปนี้ คือความยืดหยุ่นและการปรับตัว การริเริ่มสร้างสรรค์และเป็นตัวของตัวเอง ทักษะสังคมและสังคมข้ามวัฒนธรรม การเป็นผู้สร้างหรือผู้ผลิต (Productivity) และความรับผิดชอบเชื่อถือได้ (Accountability) ภาวะผู้นำและความรับผิดชอบ (Responsibility)

         ทั้งนี้  กิจกรรมการเรียนรู้ “การพัฒนากิจกรรมการเรียนรู้ สู่ทักษะอาชีพ” ส่งผลให้คณะครูนักเรียนที่สนใจและเข้าร่วมได้เรียนรู้การทำขนม รู้ขั้นตอนการทำเส่งเผ่ ฮาละหว่า ลองไปหาชิมดูนะครับว่าขนมหวานของชาวไทยใหญ่ “เส่งเผ่” ที่มีลักษณะคล้ายขนมข้าวเหนียวแดง ที่ทำจากข้าวเหนียว น้ำอ้อย กะทิ ต่างกันตรงหน้าเส่งเผ่จะราดด้วยหัวกะทิแล้วปิ้ง หรือ อบหน้าจนเกรียม รสชาติหวานมัน ส่วน “ฮาละหว่า” ตัวขนมทำจากแป้งข้าวเจ้า น้ำตาลทราย กะทิ เมล็ดสาคูเล็ก หน้าขนมทำเช่นเดียวกับเส่งเผ่ มีรสชาติหวานมัน มีขายในตลาดสดเทศบาล อำเภอแม่สอด ไปลองชิมกันนะครับ ติดใจในรสชาติอย่างไงก็อย่าลืมบอกต่อนะครับ ขนมแม่สอดก็มีมากกว่าที่เราคิด

ภาพ/ข่าว นายเศรษฐชาติ แหงมงาม ประชาสัมพันธ์สถานศึกษา รายงาน

 

You may also like...